ในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา CMRCA ได้จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับนักปีน เพื่อพูดคุยถึงข้อคำถามและประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการปิดพื้นที่หน้าผา Crazy Horse ระหว่างการประชุมเราได้แจ้งรายละเอียดความคืบหน้าของการดำเนินงานของเรา ที่เรากำลังทำงานร่วมกับชุมชนบ้านสหกรณ์ ชุมชนอำเภอแม่ออน และหน่วยงานราชการท้องถิ่นในการขออนุญาติเข้าใช้พื้นที่หน้าผา Crazy Horse เราต้องขออภัยที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดการประชุมให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ และขอขอบคุณความอดทนในการรอการประกาศจากเรา เนื่องด้วยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้ทุมเทเวลาไปกับการพยายามช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับหลายๆ คน
จากที่ทุกท่านได้ทราบดีอยู่แล้วเรื่องการปิดการเข้าใช้พื้นที่หน้าผา Crazy Horse โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสหกรณ์มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และได้มีความพยายามขออนุญาติเข้าใช้พื้นที่ปีนหน้าผาให้ถูกต้องตามกฎหมายตามที่หน่วยงานราชการระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลได้แนะนำ การปิดพื้นที่สร้างผลกระทบต่อหลายฝ่ายด้วยกันไม่ว่าจะเป็นนักปีนท้องถิ่นและนักปีนจากที่อื่นๆ ชาวบ้านและธุรกิจในชุมชน เช่นเดียวกับ CMRCA และพนักงาน รวมถึงผู้ที่คุ้นเคยกับการมีพื้นที่ปีนหน้าผาและสำรวจถ้ำระดับโลกไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เราได้รวบรวมคำตอบของหลายๆ ข้อคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมไว้ด้านล่างจดหมายนี้
เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ออฟฟิศของเราจะปิดทำการไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามเรายังมีทีมงานที่ทุ่มเททำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานในท้องถิ่น และสมาชิกชุมชนแม่ออนเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการขออนุญาติเข้าใช้พื้นที่ Crazy Horse ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่เราได้กล่าวไว้ในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านสหกรณ์และเจ้าหน้าที่นั้นยินดีที่จะพบปะกับนักปีนที่ออฟฟิศที่อำเภอแม่ออนหากชุมชนนักปีนยังมีข้อสงสัยใดๆ ที่ต้องการซักถาม
ถึงชุมชนนักปีนในเชียงใหม่และที่อื่นๆ เราได้รับฟังความต้องการที่จะรับทราบความคืบหน้าของ Crazy Horse ให้บ่อยกว่านี้ เราหวังว่าข้อมูลด้านล่างจะช่วยอธิบายภารกิจและความยึดมั่นของเราในการสนับสนุนการปีนหน้าผาและการสำรวจถ้ำของทุกๆ คน เราจะแบ่งปันข้อมูลความคืบหน้าให้มากขึ้นและบ่อยขึ้น ในเดือนพฤษภาคมเมื่อออฟฟิศของเรากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งและเรามีข้อมูลเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบ ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจและให้การสนับสนุนมาโดยตลอด
Climb and Cave On
แคท และ จอช มอริส
ผู้ก่อตั้งบริษัท
ตอบคำถาม
CMRCA ได้ยื่นคำขอเข้าใช้พื้นที่ Crazy Horse หรือไม่ และได้รับการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นหรือไม่
จากการปิดพื้นที่ในครั้งนี้มีข้อดีคือเกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนบ้านสหกรณ์และหน่วยงานในท้องถิ่นและจังหวัดได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ปีนหน้าผา และการกระจายรายได้ใช้ชุมชนจากหน้าผา Crazy Horse อย่างยั่งยืนเสมอมา ชุมชนตำบลบ้านสหกรณ์ทั้ง 8 หมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรรัฐ และหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยกันพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะทำการเปิดหน้าผา Crazy Horse อีกครั้งให้เป็นพื้นที่สำหรับการปีนหน้าผา สำรวจถ้ำ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และสนับสนุนให้ CMRCA เป็นผู้ดำเนินการด้านเอกสารคำขอเข้าใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานในอำเภอแม่ออนในการสร้างแผนการใช้งานหน้าผาอย่างยั่งยืนและมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ต่อไปในอนาคต
สถานะของคำขอตอนนี้เป็นอย่างไร
กระบวนการยื่นใบคำขออนุญาตินั้นต้องใช้เวลาหลายขั้นตอนและหลายหน่วยงาน เพื่อให้เอกสารได้มีการตรวจสอบและอนุมัติจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ หรืออาจพูดให้เข้าใจกว้างๆได้ว่าการขออนุญาตินี้ต้องผ่านระบบที่ซับซ้อนนั่นเอง ตลอดกระบวนการเหล่านี้ CMRCA กับ ชุมชนบ้านสหกรณ์ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเรายินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นยึดมั่นในกระบวนการในการขออนุญาติเข้าใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งให้มั่นใจได้ถูกต้องตามกฏหมายการขออนุญาติทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ การขออนุญาติครั้งนี้ (หากสำเร็จ) จะกลายเป็นแบบอย่างทางกฎหมายและตัวอย่างในการจัดการพื้นที่ซึ่งผู้พัฒนาพื้นที่ปีนหน้าผาคนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีเงื่อนไขคล้ายๆ กันนี้ทั่วประเทศไทย ขณะนี้คำขออนุญาติยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและเรายังไม่สามารถแจ้งวันที่แน่นอนได้ว่า Crazy Horse จะเปิดเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามเราทำงานอย่างหนักและมีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด และเราหวังว่า Crazy Horse จะกลับมาเปิดอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2563
Crazy Horse อยู่ในที่ดินประเภทใด
คำถามที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมคือ Crazy Horse ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะหรือไม่ ความหมายของ “ที่ดินสาธารณประโยชน์” ในประเทศไทยนั้นอาจแตกต่างไปจากความหมายของประเทศอื่นบ้างเล็กน้อย เราสนับสนุนให้พิจารณาในมุมมองด้านกฎหมายท้องถิ่นว่าที่ดินสาธารณะในประเทศไทยนั้นมีการบริหารและควบคุมอย่างไร “ที่ดินสาธารณประโยชน์” นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยผ่านทางส่วนราชการจังหวัด ไปจนถึงที่ดิน องค์การบริหารส่วนอำเภอ และท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ที่ดินสาธารณะประโยชน์ นั้นๆ อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจในข้อกฎหมายนี้เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่ได้ระบุถึงลักษณะการใช้ที่ดินและกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้ เราอยากจะแนะนำให้ทำความเข้าใจถึงโครงสร้างทางกฏหมายและกระบวนการที่ต้องปฎิบัติเพื่อขอใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมอย่างถูกกฎหมาย (การปีนหน้าผายังไม่ได้รับการอนุญาตตามกฏหมายของประเทศไทย) ในเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงฯ
ท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่อง-เที่ยวและกีฬา ได้เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ที่เว็บไซต์ของสำนักข่าวมติชน คุณสามารถติดตามอ่านบทความได้ที่นี่
CMRCA ควรเป็นผู้ดูแล Crazy Horse หรือไม่
เรารับทราบว่ามีหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการหน้าผา หรือองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไรควรจะเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่การปีนหน้าผาหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการพูดคุย เรารู้สึกว่าในปัจจุบันที่รัฐบาลยังขาดความเข้าใจในกิจกรรม และการปิดพื้นที่ปีนหน้าผาในประเทศไทยที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนี้ การมองว่าบริษัทไม่ควรเป็นผู้ดำเนินการหรือไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ปีนหน้าผาอย่างมีจรรยาบรรณได้นั้นเป็นการมองในมุมแคบ และมองด้วยอคติโดยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็นในมุมกว้างที่พวกเรานักปีนหน้าผาทุกคนต้องเผชิญ เราคือทีมเดียวกัน และเราทุกคนต่างทุ่มเทความพยายามของเราเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการปีนหน้าผาจะได้รับการยอมรับอย่างถูกกฎหมายและได้รับการสนับสนุนจากทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ
เมื่อมาถึงคำถามที่ว่าพื้นที่ปีนหน้าผาในแต่ละที่นั้นควรมีการบริหารจัดการอย่างไรนั้น เราเชื่อว่าไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวสำหรับทุกพื้นที่ปีนหน้าผาทั่วโลก ในความคิดเห็นของเรา วิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถเข้าใช้พื้นที่ปีนหน้าผาโดยถูกกฎหมายอย่างยั่งยืนและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้คือ การสร้างแผนการจัดการที่พิจารณาถึงข้อกฎหมาย นโยบาย กฎระเบียบ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และชุมชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ CMRCA ยังยึดมั่นในความพยายามนี้เสมอมา ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหาร Crazy Horse การมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและความร่วมมือกับส่วนงานราชการในทุกระดับตลอด 18 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ยืนยันและตอบคำถามได้ว่าเรามีความสามารถ มีทักษะ จรรยาบรรณ และมีจริยธรรมพอที่จะบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนให้สำเร็จได้ในอนาคต
เมื่อ Crazy Horse เปิดอีกครั้งจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการปีนหน้าผาหรือไม่
สำหรับความเป็นไปได้ของค่าธรรมเนียมสำหรับเข้าใช้พื้นที่ Crazy Horse ในการปีนหน้าผานั้น ในขณะที่เรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าคำขออนุญาติเข้าใช้พื้นที่นั้นจะได้รับการอนุมัติ แต่หากเราได้รับอนุญาติให้เข้าใช้งาน เป็นไปได้ที่จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในแต่ละวันเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพื้นที่ พื้นที่โดยรอบหน้าผา Crazy Horse นั้นไม่ได้มีการจัดการโดยองค์กรของรัฐบาลเหมือนกับที่พบได้ที่พื้นที่ปีนหน้าผาในหลายประเทศ ลองจินตนาการถึงพื้นที่สาธารณะ (BLM Land) หรือพื้นที่ป่าสงวนของอเมริกาเป็นต้น ในขณะที่นักปีนอาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาเส้นทางการปีนและทางเดินสำหรับนักปีน (ทั้งได้รับและไม่ได้รับการอนุญาติ) นักปีนในพื้นที่เหล่านี้มักจะไม่ต้องรับผิดชอบการพัฒนาและดูแลรักษาสภาพของถนน สร้างและทำความสะอาดห้องน้ำ หรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ และกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อจะได้ช่วยให้การเข้าไปใช้พื้นที่ปีนหน้าผาได้ง่ายขึ้น พื้นที่ที่บริหารโดยรัฐบาลเหล่านี้มักมีการเก็บค่าเข้า หรือค่าจอดรถเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปให้บริการและได้รับการดูแล เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติในประเทศไทยที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้าเพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรับประกันการเข้าใช้พื้นที่ Crazy Horse สำหรับปีนหน้าผาต่อไป เราค่อนข้างมั่นใจในการตัดสินใจของเราว่าจะต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้
ประวัติและเรื่องราวของการพัฒนาที่ Crazy Horse เป็นมาอย่างไร?
การพัฒนาเส้นทางปีนหน้าผาที่ Crazy Horse ในยุคแรกถูกบุกเบิกด้วย คุณไกรศักดิ์ บุญทิพย์ (พี่ต้อม) ด้วยการสร้าง 7 รูทแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2541 (“พี่จอย” ผู้เป็นเจ้าของแคมป์น้ำผาป่าใหญ่ ก็เป็นหนึ่งในทีมผู้บุกเบิก Crazy Horse เช่นกัน ชื่อของรูท “Dangerous Joy” นั้นมาจากเธอ). อีก 7 เส้นทางต่อมานั้นได้ถูกสร้างขึ้นโดยคุณ Francis Haden และ Josh Morris ด้วยการสนับสนุนจากบริษัท “The Peak” ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2544
ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ได้มีการระดมทุนส่วนบุคคลเพื่อสร้างเส้นทางปีนประมาณ 30 รูทจากกลุ่มนักปีนเช่น Francis Haden, Josh Morris, แคท มอริส, อุทิศ ยอดคำมั่น, Lance Waring, Will Hair และอีกหลายๆคน
บริษัท CMRCA ได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545 และการสร้างเส้นทางปีนตั้งแต่นั้นได้รับความช่วยเหลือจากนักปีนท้องถิ่น รวมถึงได้รับเงินบริจาคเป็นบางส่วนจากกลุ่มนักปีน แต่โดยส่วนมากแล้วค่าใช้จ่ายของการสร้างเส้นทาง รวมถึงการบริหารดูแลหน้าผา Crazy Horse ได้ถูกแบกรับด้วยบริษัท CMRCA ตลอดมา
ค่าธรรมเนียมจะเป็นอย่างไร และจะถูกนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง
การได้รับอนุญาติให้บริหารและพัฒนา Crazy Horse นั้นจะมาพร้อมกับข้อกำหนดด้านการบริหารจัดการจากรัฐบาลอย่างแน่นอน (ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เข้าใช้พื้นที่ทุกคนต้องทำประกันภัยแบบคุ้มครองรวมและปฏิบัติตามนโยบายด้านการอพยพ) ซึ่งค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บนั้นจะถูกนำไปใช้ในข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นไปได้จากรัฐบาลรวมถึงบริการต่างๆ ที่ CMRCA เคยเป็นผู้ดูแล เช่น ห้องน้ำและการเติมน้ำในห้องน้ำ การกำจัดสิ่งปฏิกูล การสร้างและบำรุงรักษาถนน การดูแลรักษาเส้นทางการปีน หมุดยึด (Bolts) การเจาะหน้าผาด้วยมาตรฐานระดับสูงสุด (สามารถดูมาตรฐานในการเจาะหน้าผาที่ Crazy Horse จากวิดีโอในปี 2018 ของเราได้ที่นี่)
ในขณะที่เรายังไม่แน่ใจในข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล เราจึงยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตามเราคาดว่าจะมีระบบที่เป็นมาตรฐานสำหรับค่าธรรมเนียมรายวัน และส่วนลดสำหรับรายสัปดาห์ รายเดือน รายปี และส่วนลดสำหรับนักเรียน เราทราบดีว่านี่คือประเด็นที่ชุมชนสนใจและเราจะแจ้งข้อมูลให้ทราบและทำการประกาศอีกครั้งเมื่อเราเข้าใกล้วันที่จะสามารถเปิดหน้าผาได้อีกครั้ง
พื้นที่ปีนหน้าผาในภาคเหนือของไทยอยู่ในการปกครองของหน่วยงานใด
หน้าผาที่ลำปางนั้นอยู่ในความดูแลของกองทัพไทยและกระทรวงกลาโหม Crazy Horse อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย พื้นที่ปีนหน้าผาที่เชียงดาวอยู่ในควมดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติ แต่ละพื้นที่มีกฎระเบียบและข้อบังคับแตกต่างกันไปในการขออนุญาติใช้พื้นที่ เชียงดาวกับ Crazy Horse ถูกปิดด้วยเหตุผลที่ต่างกันจากข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปตามหน่วยงานและกระทรวงที่ปกครองพื้นที่นั้นๆ แม้ว่าเราจะกล่าวถึงพื้นที่เพียง 3 แห่ง แต่หากเราต้องการจะพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่แล้วหรือพื้นที่ใหม่ๆ นั้น เราก็จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่และพิจารณาถึงเจ้าของพื้นที่นั้นๆ อย่างถูกต้อง
ค่าธรรมเนียมจะเหมือนหรือแตกต่างจากลำปางอย่างไร
ในเดือนกันยายน 2559 CMRCA ถูกเชิญให้เข้าร่วมประชุมกับหลายๆ ภาคส่วนด้วยกันทั้ง กองทัพไทย ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลส่วนอำเเภอและตำบล อุทยานแห่งชาติ ผู้นำหมู่บ้านและสมาชิกจากชุมชนหมู่บ้าน บ้านดง บ้านจำปุย และบ้านท่าสี การประชุมในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการปีนหน้าผา สำรวจถ้ำ และสถานที่ท่องเทียวในพื้นที่ โดยจัดทำเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน จากชื่อเสียงและประวัติของ CMRCA ในการทำงานออย่างใกล้ชิดร่วมกับชุมชนแม่ออนในการพัฒนา Crazy Horse ซึ่งเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หลังจากการปรึกษาและทำงานร่วมกันมามากกว่า 2 ปี CMRCA ก็ได้รับการอนุญาติให้สามารถเข้าใช้พื้นที่ และขอให้บริหารการพัฒนาพื้นที่โดยจัดทำเป็นโครงการขึ้นมาเพื่อนำตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจเข้ามาสู่ชุมชนที่ห่างไกล ข้อตกลงในครั้งนี้มีข้อกำหนดคือ CMRCA ต้องจัดให้มีไกด์ที่มีใบอนุญาติและมีทักษะและเชี่ยวชาญด้านการปีนหน้าผาและการกู้ภัยอยู่ในพื้นที่ทุกครั้งที่มีการปีนหน้าผา รวมถึงการลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับการเข้าพื้นที่ทหาร และการส่งรายงานการเข้าใช้พื้นที่ประจำวัน ประจำเดือน และประจำปี
แม้ว่านี่จะไม่ใช่ตัวเลือกของเรา แต่ก็เป็นตัวเลือกเดียวที่จะยืนยันการเข้าใช้พื้นที่อย่างถูกกฏหมายและเริ่มพัฒนาพื้นที่ในการปีนหน้าผา จากข้อบังคับดังกล่าวรวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงขึ้นเนื่องจากระยะทางจากเชียงใหม่ ( ไป – กลับ 360 กม.) ทำให้เราจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักปีนทุกคน ค่าธรรมเนียมนี้สูงกว่าค่าธรรมเนียมที่เราคาดการณ์ไว้สำหรับ Crazy Horse การปีนหน้าผาที่ลำปางถือเป็นโครงการนำร่อง และเราได้ทำงานร่วมกับอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เหมาะสมและชุมชนเพื่อลดค่าธรรมเนียมและในที่สุดก็จะก่อให้เกิดพื้นที่ปีนหน้าผาที่เข้าถึงได้และเป็นที่นิยมซึ่งจะนำโอกาสและผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาสู่ชุมชนท้องถิ่น
เดี๋ยวนะ! แต่ว่า CMRCA เป็นธุรกิจ!
ถูกต้อง CMRCA คือธุรกิจและเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ
ธุรกิจของ CMRCA มุ่งเน้นในการให้บริการ ไกด์ปีนหน้าผา ไกด์สำรวจถ้ำ การสร้างโปรแกรมการศึกษา การยกระดับมาตรฐานของไกด์ การพัฒนาอุตสาหกรรม Outdoor ที่ยั่งยืนและสร้างโอกาสให้กับทุกคน รวมถึงการบริการอื่นๆอีกมากมายซึ่งถูกสร้างขึ้นมาด้วยความยึดมั่นใน “คุณค่าหลัก” ของเรา
การบริการของเราส่วนหนึ่งถูกสร้างเพื่อให้เกิดรายได้ แต่อีกส่วนหนึ่งถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาภายในชุมชน เราเข้าใจดีว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นประโยชน์กับทุกๆฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทอย่าง B-Corp หรือ 1% For the Planet พึงปฎิบัติเช่นกัน
เราตระหนักและเชื่อมั่นว่าโครงสร้างธุรกิจนี้นอกจากจะช่วยผลักดันอัตรายอดขาย ยังสามารถช่วยให้ความรู้และปลูกฝังในภาคผู้บริโภค พร้อมยังสร้างโอกาสและงบประมาณเพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเติบโตของชุมชน การพัฒนาวงการปีนหน้าผาภายในประเทศไทย หรือการทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้สนับสนุนทางภาครัฐสำหรับวงการปีนหน้าผา (รวมถึงวงการสำรวจถ้ำและ Outdoor อื่นๆ) CMRCA ยังคงเป็นธุรกิจที่พร้อมอุทิศตนและอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในวงการกิจกรรมกลางแจ้ง ในเชียงใหม่และทั่วประเทศไทย
วิสัยทัศน์ในอนาคต
เราเข้าใจและอาจมีบางบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ CMRCA จะมาบริหารจัดการ Crazy Horse (ซึ่งจริงๆแล้วเราทำมาตลอด 18 ปีที่ผ่านมา) และสำหรับพวกเขาสิ่งนี้น่าจะยังคงเป็นประเด็นของการโต้แย้งต่อไปเรื่อยๆ
มุมมองของเราคือ – นิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หากต้องการให้บริการและสร้างประโยชน์ส่วนรวมแก่ชุมชนแล้ว จำต้องยอมรับกับความขัดแย้งและความไม่พอใจที่อาจเกิดขึ้นภายในชุมชนและทุกๆฝ่ายด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามภารกิจสำคัญของ CMRCA นั้นคือ
“การสร้างโอกาสสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ด้วยการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในชุมชนชนบท”
พวกเราพร้อมที่จะคุยกับทุกๆคนโดยตรง เพื่อตอบรับความคิดเห็นหรือคำแนะนำ (ในระหว่างช่วงการปีนหน้าผาจำลองที่ยิมก็ได้ แต่ในอนาคตนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการปีนหน้าผาที่ Crazy Horse) อย่างไรก็ตามเราต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการสนทนาในช่องทาง Facebook หรือโซเชี่ยลอื่นๆ เนื่องจากมันเป็นที่ๆไม่เหมาะสมและอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการอภิปรายประเด็นสำคัญที่กล่าวไว้
แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ